การช่วยฟื้นฟูผู้ประสบอุบัติเหตุ เป็นการปฏิบัติเพื่อให้การช่วยเหลือเบื้องต้นอย่างถูกต้องเหมาะสมในสิ่งที่ผู้ช่วยเหลือสามารถปฏิบัติได้ในขณะนั้น เพื่อให้ผู้ประสบอุบัติเหตุอยู่ในภาวะปลอดภัยก่อนนำส่งสถานพยาบาล
การประสบอุบัติเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน เป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้โดยที่เราไม่ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต การให้ความช่วยเหลือต่อผู้ประสบกับสถานการณ์ฉุกเฉินจึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานในการช่วยเหลือบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดหรือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน ให้รอดพ้นจากอันตรายในโอกาสที่สามารถกระทำได้ ซึ่งจุดมุ่งหมายสำคัญของการช่วยฟื้นคืนชีพผู้ประสบอุบัติเหตุก็เพื่อช่วยลดอาการบาดเจ็บ ความพิการ ตลอดจนการสูญเสียชีวิต ทั้งนี้ผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องมีความรู้ความเข้าใจและทักษะการช่วยเหลือ มีความมั่นใจและปฏิบัติอย่างถูกต้องเหมาะสมจึงจะทำให้การช่วยเหลือครั้งนี้ประสบผลสำเร็จตามต้องการ ในระดับชั้นนี้จะนำเสนอถึงการช่วยฟื้นคืนชีพผู้ประสบอุบัติเหตุในกรณีการจมน้ำ การสำลักควันไฟ การถูกไฟฟ้าดูด ภาวะอาการหัวใจวายและภาวะจากทางเดินหายใจอุดตัน เพื่อที่นักเรียนจะได้สามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
หลักการทั่วไปในการช่วยฟื้นฟูผู้ประสบอุบัติเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน
หลักการทั่วไปในการช่วยฟื้นคืนชีพผู้ประสบอุบัติเหตุในสถานการณ์ฉุกเฉิน ต้องคำนึงถึงปัจจัยหลายประการ ซึ่งจะผันแปรตามสถานการณ์ของอุบัติเหตุนั้น โดยไม่จำเพาะเจาะจงว่าควรปฏิบัติเช่นไร โดยทั่วไปแล้วผู้ให้การช่วยเหลือจะต้องรู้จักวิธีการประเมินสถานการณ์ด้วยการตัดสินใจเข้าช่วยเหลือ และแก้ไขสถานการณ์ประสบอุบัติเหตุได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว ทันท่วงที และต่อเนื่อง เพราะมีผลกระทบต่อความอยู่รอดหรือเสียชีวิตของผู้ประสบภัยโดยตรง โดยผู้ให้การช่วยเหลือเองจะต้องควบคุมสติให้มั่นคง ไม่ตื่นเต้นตกใจ ควรมีจิตวิทยาวนการพูดสร้างสรรค์ ให้กำลังใจผู้ประสบอุบัติเหตุให้รู้สึกว่าตนเองมีความปลอดภัย โดยมีหลักทั่วไปที่ควรนำมาปฏิบัติเพื่อให้การช่วยเหลือ ดังนี้
1. ตัวผู้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้ช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุมักเป็นบุคคลที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนั้น จึงควรเรียนรู้หลักการช่วยเหลือเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างถูกต้อง ดังนี้
– ผู้ช่วยเหลือควรคำนึงถึงความปลอดภัยของสถานที่เกิดเหตุก่อนเป็นลำดับแรก เพื่อจะได้ประเมินสภาพความปลอดภัยที่เป็นจริงในขณะนั้น ทั้งต่อตัวของผู้ช่วยเหลือและผู้ประสบอุบัติเหตุ
– ผู้ช่วยเหลือจะต้องมั่นใจว่าตนเองในขณะนั้นมีความรู้ความสามารถ และทักษะการปฏิบัติตามหลักการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นพื้นฐานอย่างถูกต้องเป็นอย่างดี
– ผู้ช่วยเหลือจะต้องปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง มีสติรอบคอบ และกระทำโดยความเหมาะสมในขณะที่ปฏิบัติการให้ความช่วยเหลือนั้น ควรคำนึงถึงลำดับความสำคัญก่อน-หลังของสภาพความรุนแรงที่ผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับด้วย เช่น ถ้าผู้ประสบอุบัติเหตุมีบาดแผลเลือดไหล และหยุดหายใจต้องช่วยให้หายใจก่อนการห้ามเลือด เป็นต้น
– ผู้ช่วยเหลือจะต้องใช้ความรอบคอบในการตรวจสอบด้วยสายตาเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยให้สามารถมองเห็นและประเมินสถานการณ์ความผิดปกติได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว รวมทั้งวางแผนให้การช่วยเหลือเป็นลำดับขั้นตอนไปพร้อมกัน
– ผู้ช่วยเหลือไม่ควรเคลื่อนย้ายตัวผู้ประสบอุบัติเหตุโดยไม่จำเป็น เพราะอาจมีอาการบาดเจ็บของอวัยวะภายในของผู้ประสบอุบัติเหตุที่ไม่สามารถมองเห็นได้ เช่น กระดูกสันหลังหัก กล้ามเนื้อฉีกขาด เมื่อทำการเคลื่อนย้ายแล้วหากปฏิบัติไม่ถูกวิธีอาจทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุพิการหรือบาดเจ็บเพิ่มมากขึ้นโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
2. ตัวผู้ประสบอุบัติเหตุ ผู้ประสบอุบัติเหตุในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ อยู่ในภาวะอันตรายที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ซึ่งระดับความรุนแรงของอันตรายที่ได้รับ สามารถเรียงลำดับความสำคัญ 5 ลักษณะ ดังนี้
– ทางเดินหายใจอุดตัน หยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น
– การเสียเลือดเป็นจำนวนมากอย่างรวดเร็ว
– ไม่รู้สติหรือหมดความรู้สึก
– ได้รับความเจ็บปวด
– กระดูกหัก