การรักษาเรือหรือสินค้าให้พ้นจากความสูญหายหรือเสียหายอันมีที่มาจากภัยทางทะเล

Chicago Train Derailment

คำว่า Salvage นั้นถ้าหากพิจารณาตามคำนิยามของนักวิชาการต่างประเทศที่ได้ให้คำจำกัดความไว้ก็จะพบว่า โดยส่วนมากคำว่า “Salvage” มักจะได้รับการตีความในลักษณะที่จำกัดโดยมีความหมายที่ครอบคลุมถึงเฉพาะการช่วยเหลือทรัพย์สินเท่านั้น เช่น ในคำอธิบายของ Alan E. Branch ซึ่งได้กล่าวไว้ว่าการช่วยเหลือกู้ภัยเป็นกระบวนการนำกลับมา การรักษาเรือหรือสินค้า ให้พ้นจากความสูญหายหรือเสียหายอันมีที่มาจากภัยทางทะเล และรวมถึงเงินรางวัลที่ได้จ่ายให้แก่ผู้เข้าช่วยเหลือกู้ภัยเพื่อเป็นการตอบแทนการให้บริการในการรักษาทรัพย์สินดังกล่าวไว้หรือในตำรากฎหมายฝรั่งเศสก็มีนักวิชาการบางท่าน เช่น Tantin G. ที่ได้ให้ความหมายแห่งการช่วยเหลือกู้ภัยไว้ว่าเป็นการที่เรือลำหนึ่งได้ให้การช่วยเหลือแก่เรืออีกลำหนึ่งซึ่งตกอยู่ในอันตราย โดยการช่วยเหลือเช่นว่านี้อาจจะอยู่ในรูปของการลากจูงเรือที่รับการช่วยเหลือ การช่วยทำให้เรือดังกล่าวมีน้ำหนักเบาลงเพื่อให้เรือนั้นสามารถลอยขึ้นได้ หรือการช่วยเหลือในการดับไฟบนเรือ

คำอธิบายหรือการให้คำจำกัดความของนักวิชาการดังที่กล่าวถึงข้างต้นนี้มีความสอดคล้องกันกับสารานุกรมบางเล่ม เช่น Encyclopedia Britannica Inc. ที่ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับ Salvage ในมุมของกฎหมายพาณิชยนาวีว่า เป็นการให้ความช่วยเหลือแก่เรือหรือสินค้าในเรือที่กระทำขึ้นในบริเวณน่านน้ำที่สามารถเดินเรือได้ ให้รอดพ้นจากภยันตรายที่อาจยังไปสู่ความสูญหายหรือการถูกทำลายแห่งทรัพย์สิน ได้นอกจากนี้ ตามแหล่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของ Cornell University Law Schoolยังได้มีการอธิบายถึงวิธีการหรือลักษณะแห่งการช่วยเหลือกู้ภัยไว้ในลักษณะที่น่าสนใจ โดยได้อ้างถึงคำพิพากษาแห่งคดี Reynolds Leasing Corp. v. The Tug Patrice McAllister ว่าผู้ช่วยเหลือกู้ภัยนั้นไม่ได้จำเป็นว่าจะต้องเป็นการให้ความช่วยเหลือในทางกายภาพแก่เรือหรือสินค้าเสมอไป แต่องค์ประกอบที่ผู้ช่วยเหลือกู้ภัยจะต้องมีอยู่ก็คือเจตนาและความสามารถในการให้การช่วยเหลือกู้ภัยเพราะฉะนั้น ลำพังเพียงการตัดสินใจของนายเรือที่ได้นำเรือของตนไปลอยลำอยู่ใกล้ ๆ ในเวลาที่เรือซึ่งอยู่ในภัยพิบัติกำลังต้องการความช่วยเหลือก็ถือเป็นการเพียงพอแล้วที่จะก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องในเงินค่าตอบแทนการช่วยเหลือกู้ภัย